วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

สติปัฏฐาน

สติปัฏฐานทำงานกับทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตของเราตลอดเวลานี้เอง ท่านจึงจัดแยกสติปัฏฐานออกตามประเภทของสิ่งที่ชีวิตของเราเกี่ยวข้องโดยแบ่งเป็น ๔ ข้อ คือ
๑) กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน ใช้สติตามดูโดยมีปัญญารู้เท่าทันสภาพทางร่างกาย
๒) เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน ใช้สติตามดูโดยมีปัญญารู้เท่าทันความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือไม่สุข ไม่ทุกข์ที่เกิดขึ้น
๓) จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน ใช้สติตามดูโดยมีปัญญารู้เท่าทันสภาพจิตใจ
๔) ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน ใช้สติตามดูโดยมีปัญญารู้เท่าทันเรื่องราวทั้งหลาย ที่รู้ที่คิดที่เกิดขึ้นในใจ
๒. “ปธาน ๔” ปธาน แปลว่า ความเพียร การตั้งใจ ความเพียร หรือการประกอบความเพียร หลักนี้ไม่ค่อยคุ้น ท่านที่ต้องการจะเรียนและปฏิบัติให้ลึกซึ้ง สามารถเริ่มต้นจากหลักการที่กล่าวในที่นี้แล้วไปค้นคว้ารายละเอียดต่อไป หมวดที่ ๒ คือ ปธาน ๔ หมายถึง ความเพียร ๔ ประการ ได้แก่
๑) สังวรปธาน ความเพียรที่จะระวัง หรือปิดกั้นอกุศลธรรม ที่ยังไม่เกิดก็ไม่ให้เกิดขึ้น
๒) ปหานปธาน ความเพียรในการละเลิกกำจัด อกุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดสิ้นหายไป
๓) ภาวนาปธาน ความเพียรในการฝึกอบรมทำกุศลธรรม หรือธรรมที่ดี ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
๔) อนุรักขนาปธาน ความเพียรในการรักษาส่งเสริมกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้เจริญยิ่งขึ้นไปจนไพบูลย์
๓. “อิทธบาท ๔” คือ ธรรมให้ถึงความสำเร็จ หรือทางแห่งความสำเร็จ หลักนี้รู้จักกันหมดแล้ว ต้องเอามาใช้ในการปฏิบัติด้วย อย่าลืม อิทธิบาท ๔ เป็นตัวการสำคัญที่จะทำให้เกิดสมาธิ กล่าวคือ
ฉันทะ (ความพอใจ ; มีใจรัก) = ถ้าเราชอบหรือพอใจในสิ่งใดแล้ว เมื่อทำสิ่งนั้นก็จะเกิดสมาธิได้ง่าย
วิริยะ (ความพากเพียร ; พากเพียรทำ) = ถ้าเราเห็นสิ่งใดเป็นสิ่งที่ท้าทายมีใจสู้ เมื่อทำสิ่งนั้นก็จะเกิดสมาธิได้ง่าย
จิตตะ (ความใฝ่ใจ ; เอาจิตฝักใฝ่) = ถ้าเรารู้สึกว่าสิ่งใดสำคัญเราจะต้องรับผิดชอบเอาใจจดจ่ออยู่ เมื่อทำสิ่งนั้นก็จะเกิดสมาธิได้ง่าย
วิมังสา (ความใคร่ครวญ ; ใช้ปัญญาสอบสวน) = ถ้าเราต้องการทดลองอะไร ใจชอบตรวจสอบมันอยู่ เมื่อทำสิ่งนั้นก็เกิดสมาธิได้ง่าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น