วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

หลักการทั่วไปของการปฏิบัติธรรม : ชุดที่ ๒

ทาน ศีล ภาวนา ที่เรียกว่า บุญสิกขา ก็มีสาระสำคัญอย่างเดียวกับไตรสิกขานี้เอง
๑. ทาน คือ การให้ การเผื่อแผ่แบ่งปัน เพื่อช่วยเหลือกัน เพื่อยึดเหนี่ยวสังคม และเพื่อส่งเสริมความดีงามและการทำสิ่งที่ดี ทานเป็นเครื่องส่งเสริมการอยู่ร่วมในสังคมให้เป็นไปด้วยดีมีระเบียบมั่นคงยิ่งขึ้น พร้อมกันนั้นก็เป็นเครื่องฝึกหัดขัดเกลาทั้งพฤติกรรมภายนอกทางกาย วาจา และฝึกฝนอบรมจิตใจให้เจริญยิ่งขึ้นไปในคุณธรรม และความเอิบอิ่มเบิกบานผ่องใส
๒. ศีล ก็มีสาระอย่างศีลในไตรสิกขาข้างต้น
๓. ภาวนา แยกเป็นภาวนาในด้านสมาธิ และภาวนาในด้านปัญญา ตรงกับที่ได้บรรยายมาแล้ว
การปฏิบัติธรรมในความหมายที่เราพูดกันมาก ตามที่นิยมกันในปัจจุบันนี้ เป็นการจำกัดแคบในระดับภาวนา คือ เป็นการปฏิบัติในระดับภาวนาและเน้นที่รูปแบบ เช่น ไปนั่งสมาธิเข้าไปในวัดวิเวก เข้าไปในป่า ก็เลยจะขอพูดเจาะจงเฉพาะระดับนี้เสียทีหนึ่งก่อนว่า ในแง่ที่เรานิยมปฏิบัติธรรม คือ ไปบำเพ็ญสมาธิเป็นต้นนี้ เราจะต้องรู้จักภาวนาเสียก่อนว่ามันเป็นอย่างไร
ภาวนา นั้น จะต้องแยกจากภาวนาในภาษาไทยก่อน คือ ไม่ใช่เป็นเพียงมามุบๆ มิบๆ แต่ปาก แล้วบอกว่าเป็นภาวนา หรือเอาถ้อยคำในภาษาพระ เอามนต์เอาคาถามาท่องมาบ่นแล้วว่าเป็นภาวนา ไม่ใช่อย่างนั้น ภาวนา แปลว่า ทำให้เกิดมีขึ้น ทำให้เป็นขึ้น สิ่งที่ยังไม่เป็น ก็ทำให้มันเป็น สิ่งที่ยังไม่มี ก็ทำให้มันมีขึ้น เรียกว่า ภาวนา เพราะฉะนั้น จึงเป็นการปฏิบัติ ฝึกหัด หรือลงมือทำ ภาวนาจึงแปลอีกความหมายหนึ่งว่า การฝึกอบรม ฝึกนั้น เมื่อยังไม่เป็นก็ทำให้มันเป็น อบรมนั้น เมื่อยังไม่มีก็ทำให้มีขึ้น ยิ่งกว่านั้น เมื่อทำให้เกิด ให้มีให้เป็นขึ้นมาแล้ว ก็ต้องทำให้เจริญงอกงามเพิ่มพูนพรั่งพร้อมขึ้นไปด้วยจนเต็มที่
ภาวนาจึงมีความหมายตรงกับคำว่า พัฒนา ด้วยและจึงแปลง่ายๆ ว่า เจริญ ในภาษาไทยแต่โบราณมาก็นิยมแปลภาวนา ว่า เจริญ เช่น เจริญสมาธิ เรียกว่า สมาธิภาวนา เจริญเมตตา เรียกว่า เมตตาภาวนา เจริญวิปัสสนา เรียกว่า วิปัสสนาภาวนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น